จากบทความที่ผ่านๆมาเรื่อง เสาเข็มไอ (I Section Shape Piles) คืออะไร ? ใช้ในงานไหนได้บ้าง ? และ เสาตีนช้าง คืออะไร ทำไมถึงนิยมใช้เป็นเสาบ้านในต่างจังหวัด วันนี้แอดจะมาเล่าเกี่ยวกับเรื่องของเสาอีกสักเรื่อง เคยสงสัยกันไหมว่า เสาไฟฟ้า มีกี่ขนาด กี่ประเภท ที่เราเห็นตั้งอยู่ตั้งแต่ปากซอย หมู่บ้าน ไปจนถึงถนนเล็ก ถนนหลวง ถนนไฮย์เวย์ บางต้นยังเป็นเสาไม้ บางต้นเป็นเสาคอนกรีต บางต้นเป็นโครงเหล็ก มีความแตกต่างกันอย่างไร ในบทความนี้แอดมินจะมาไขความกระจ่างให้เข้าใจ ไปติดตามอ่านกันต่อได้เลย
เสาไฟฟ้าคืออะไร
เสาไฟฟ้า คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการรองรับการติดตั้งหรือโยงสายไฟให้อยู่เหนือพื้นดิน โดยวิธีใช้ถ้วยในการจับยึดสายไฟ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้า มาให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของเราได้ใช้งานในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ชาร์ทแบตมือถือ เป็นต้น ทั้งนี้เสาไฟที่เอามาติดตั้ง ต้องมีความทนทาน แข็งแรง มั่นคง สามารถรองรับน้ำหนักสายไฟและสิ่งต่างๆที่อยู่บนเสาได้เป็นอย่างดี
สายไฟ คือส่วนประกอบทางไฟฟ้าที่ใช้ในการเชื่อมโยงหรือเชื่อมต่อพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดหรือแหล่งจ่ายไฟฟ้าไปหาเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานได้ โดยในสายไฟ 1 เส้น ประกอบด้วย ตัวนำ ฉนวน และเปลือกนอก ซึ่งสายไฟก็จะมีหลายประเภทตามการออกแบบเพื่อประโยชน์การนำไปใช้ รวมไปถึงตามโครงสร้าง เช่น สายไฟที่มีเปลือกห่อหุ้มภายใน สายไฟที่มีฉนวนห่อหุ้มตัวนำไฟ สายไฟที่มีตัวนำไฟอย่างเดียว
ทำไมถึงต้องติดตั้งสายไฟให้อยู่เหนือพื้นดิน เนื่องจากหากไปสัมผัสหรือโดนสายไฟเปลือกอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงผลกระทบอื่นๆอีกมากมาย ดังที่เคยเห็นในข่าวอยู่บ่อยครั้ง
ประเภทและขนาด
เสาไฟแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. เสาไฟที่ทำด้วยไม้
เสาไฟที่ทำด้วยไม้ เป็นเสาไฟที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีต และในบางพื้นที่อาจจะยังมีใช้อยู่ในชนบทหรือพื้นที่ที่ห่างไกล มีอายุการใช้งานสั้น สมัยก่อนหาง่าย แต่มาสมัยนี้เริ่มหายาก มีหลากหลายขนาด เริ่มตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป
2.เสาไฟคอนกรีตอัดแรงเสริมลวดเหล็ก
เสาไฟคอนกรีตอัดแรงเสริมลวดเหล็ก เป็นเสาไฟที่ผลิตด้วยกรรมวิธีหล่อคอนกรีตหุ้มลวดเหล็กกล้าในกระบวนการคอนกรีตอัดแรง โดยความควบคุมดูแลของวิศวกร ตามมาตรฐานและผ่านการทดสอบจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หมายรวมถึงเสาตอม่อคอนกรีตอัดแรง และแผ่นสมอบกคอนกรีตเสริมเหล็กด้วย
คุณสมบัติของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
1.เหล็กเสริม
โดยเหล็กเสริมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่
- เหล็กอัดแรงกำลังสูง (Prestressing Bar) ใช้ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง (Steel Wires for Prestressed Concrete) ชนิดคลายความเค้น แบบมีรอยย้ำ ความทนแรงดึงงระบุ 1,770 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร ประเภทความผ่อนคลายต่ำ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง มอก.95
- เหล็กปลอก (Stirrup) ใช้ลวดเหล็กกลมขนาด ∅ 2.8 มม. ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลวดเหล็ก มอก. 194
2.คอนกรีต
ส่วนผสมของคอนกรีตเมื่อทดสอบตัวอย่างคอนกรีตรูปทรงกระบอก ( Cylinder) ที่มีอายุครบ 20 วัน กำลังรับแรงอัดสูงสุด (Ultimate Cornpressive Strength) ต้องไม่น้อยกว่าข้อกำหนดในการออกแบบ (Design Assurnption) ของผู้ผลิต โดยกำหนดให้ค่ากำลังรับแรงอัดสูงสุดของคอนกรีต ในการออกแบบต้องไม่มากกว่า 500 กก./ตร.ซม.
ขนาดของเสาไฟคอนกรีตอัดแรง
เสาไฟคอนกรีต มีหลากหลายขนาดตั้งแต่ความยาว 6 – 22 เมตร ส่วนการนำไปใช้งานก็ตามความเหมาะสม ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- เสาไฟคอนกรีต 6 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้เป็นเสาพาดสายไฟฟ้าแรงต่ำ หรือเสาบริการ
- เสาไฟคอนกรีต 8 เมตร ระดับปักดิน 1.5 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้ในการจ่ายไฟฟ้าแรงต่ำแบบ 1 เฟส 2 สาย และ 3 สาย รวมถึง 2 เฟสแบบ 3 สาย พร้อมกับสายดับไฟถนน มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 760 กิโลกรัมขึ้นไป
- เสาไฟคอนกรีต 9 เมตร ระดับปักดิน 1.5 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้ในการจ่ายไฟแรงต่ำแบบ 3 เฟส 4 สาย หรือแบบ 2 วงจร มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 590 กิโลกรัมขึ้นไป
- เสาไฟฟ้าคอนกรีต 12 เมตร ระดับปักดิน 2 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้ในการจ่ายไฟฟ้าแรงสูง มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 2,550 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับรุ่นใหม่จะมีสายดินแบบลวดตีเกลียว 25 ต.มม. ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
- เสาไฟฟ้าคอนกรีต 14 เมตร ระดับปักดิน 2 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้ในการจ่ายไฟฟ้าแรงสูง มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 3,590 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับรุ่นใหม่จะมีสายดินแบบลวดตีเกลียว 25 ต.มม. ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
- เสาไฟฟ้าคอนกรีต 16 เมตร ระดับปักดิน 2.2 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้ในการจ่ายไฟฟ้าแรงสูง มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 5,300 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับรุ่นใหม่จะมีสายดินแบบลวดตีเกลียว 25 ต.มม. ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
- เสาไฟฟ้าคอนกรีต 18 เมตร ระดับปักดิน 2.5 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้ในการจ่ายไฟฟ้าแรงสูง มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 6,300 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับรุ่นใหม่จะมีสายดินแบบลวดตีเกลียว 25 ต.มม. ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
- เสาไฟฟ้าคอนกรีต 22 เมตร เหมาะกับการนำไปใช้ในการจ่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 KV มีสายดินแบบลวดตีเกลียว 35 มม. ยาว 2 เมตร ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
3.เสาไฟโครงเหล็ก
เสาไฟโครงเหล็ก มี 5 ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ฐานราก ขาต่าง ส่วนต่อ ส่วนกลาง ส่วนยอด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ฐานราก แบ่งออกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบแท่นตรง แบบฐานแผ่ และแบบเสาเข็ม
- ขาต่าง จะมีการนำไปใช้เมื่อมีการตั้งเสาในพื้นที่ต่างระดับกัน เช่น เนินเขา ไหล่เขา เป็นต้น เพื่อให้ขาเสามีขนาดเท่ากันทั้ง 4 ขา
- ส่วนต่อ จะใช้เพื่อต่อให้เสามีขนาดสูงขึ้นไปกว่าเดิม
- ส่วนกลาง เป็นลำตัวของเสาที่ต่อขึ้นมาจากฐานราก
- ส่วนยอด เป็นส่วนปลายที่จะติดตั้งถ้วยแขวนสำหรับพาดสายไฟแรงสูง
สายบนเสาไฟฟ้ามีอะไรบ้าง
หากเราสังเกตเสาไฟฟ้าข้างถนนจะเห็นมีสายต่างๆอยู่บนนั้น ซึ่งหากเป็นถนนสายหลักจะติดตั้งเสาไฟฟ้า 4 ขนาด ได้แก่ เสาสูง 22 เมตร, สูง 12 เมตร, 10 เมตร และ 8.50 เมตร ส่วนถนนในซอยหรือในหมู่บ้าน จะเป็นเสาสูง 12 เมตร และ 8.50 เมตร โดยแต่ละระดับความสูงของเสา จะมีสายต่างๆพาดอยู่บนนั้น มีสายอะไรบ้างมีดูเฉลยกัน
- โดยทั่วไปที่ระดับบนสุดของเสาไฟฟ้าที่สูง 12 เมตร จะเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์ สายไฟนี้เข้าใกล้ไม่ได้ จึงติดตั้งให้อยู่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 10 เมตร
- ระดับรองลงมาที่ความสูงจากพื้นในระดับ 8 เมตร จะเป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ 230 หรือ 400 โวลต์ เป็นสายไฟที่ต่อโยงไว้ สำหรับจ่ายไฟเข้าบ้านเรือนประชาชนทั่วไป
- สุดท้ายที่ความสูงจากพื้นในระดับ 5-5.50 เมตร หากสังเกตจะเห็นเป็นสายหลายๆ เส้นขดกันจำนวนมาก สายเหล่านั้น คือ สายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งประกอบไปด้วย
- สายออพติกไฟเบอร์ หรือก็คือ สายอินเทอร์เน็ต นั่นเอง
- สายเคเบิลโทรศัพท์
- สายเคเบิลทีวี
- สายควบคุมสัญญาณจราจร
- สายสื่อสารกล้องวงจรปิด เป็นต้น
โดยสายสื่อสารโทรคมนาคมนั้น จะพาดสายอยู่ในระดับเดียวกัน
หากพบเห็นสายไฟชำรุด ขอให้หลีกเลี่ยงอย่าเข้าใกล้เด็ดขาด กรุณาแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่อยู่ในพื้นที่ หรือ โทร 1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ หากเป็นสายสื่อสาร สามารถแจ้งได้ที่ กสทช. โทร 1200
บทสรุปตอนท้าย
เสาไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในโยงสายไฟฟ้าให้อยู่เหนือพื้นดิน โดยการใช้ถ้วยยืดไว้ มีตั้งแต่เสาไม้ เสาคอนกรีต และเสาโครงเหล็ก หลากหลายขนาดตั้งแต่ 6 – 22 เมตร การเลือกนำไปใช้ หากเป็นการโยงสายไฟเข้าบ้านเรือนหรือพื้นที่ส่วนบุคคล บางพื้นที่อาจจะยังใช้เสาไม้ แต่บางพื้นที่ใช้สาคอนกรีต ขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละบุคคล